วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย ชะมวง (Garcinia cowa Roxb.)



ชื่อ ชะมวง

ชื่ออื่น ส้มม่วง หวากโมก มวง กะมวง ตระมูง ส้มงวง ส้มโมง มวงส้ม กานิ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb.

วงศ์ GUTTIFERAE

ชื่อสามัญ Cowa

แหล่งที่พบ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนื

ประเภทไม้ ไม้ยืนต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
     ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 4 – 10 เมตร แตกกิ่งสาขาของลำต้นเปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม
     ใบ ใบเดียวขอบใบเรียบ ใบหนายาวสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมม่วงแดง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น1 – 3 ยอด ตัวใบค่อนข้างหนาและด้านสีขาวกว้าง 1.2 – 1.9 ซม. ตัวใบยาว 18 – 20 ซม. ขอบใบเรียบมีกลิ่นเล็กน้อย ไม้ผลัดใบ
     ดอก ดอกสีขาวนวลมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กกลีบแข็งสีนวลเหลืองมีกลิ่นหอม ออกจำนวนมาก ขนาด 1 – 1.5 ซม. ดอกออกตามกิ่ง
     ผล ผลทรงกลมข้างผลเว้าเป็นพู เมื่อสุกมีสีเหลืองส้ม ผลมีเนื้อหนาสีเหลืองรสฝาด และมีเมล็ดอยู่ภายใน จำนวน 4 – 6 เมล็ด

ส่วนที่ใช้บริโภค ยอดอ่อนใบอ่อน
การขยายพันธุ์ เมล็ด ตอนกิ่ง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ป่าโคก ป่าโปร่ง
ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ เดือน พฤษภาคม
คุณค่าทางอาหาร ในส่วนใบชะมวงที่รับประทานได้ 100 กรัม มีองค์ประกอบทางโภชนาการดังนี้
Cal 52 Unit
Moist ure 84.1 %
Protein 1.9 Gm.
Fat 0.6 Gm.
CHO 9.6 Gm.
Fibre 3.2 Gm.
Ash . 0.6 Gm
Ca 27 mg.
P 13 mg.
Fe  1.1 mg.
A.I.U 7333
B1  0.7 mg.
B2 0.04 mg.
Niacin 0.2 mg.
C 29 mg.

การปรุงอาหาร ยอดอ่อนใบอ่อน รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่นแจ่ว นำไปปรุงอาหาร เช่น แกงกับหมู ต้มส้ม

ลักษณะพิเศษ ยอดอ่อนใบอ่อน มีรสเปรี้ยวช่วยระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ

ข้อควรระวัง -

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย บัว (Lotus.)



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   
     Nelumbo nucifera Gaertn.

ชื่อสามัญ :   
     Lotus

วงศ์ :   
     Nelumbonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  
     เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน เหง้า จะมีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่เจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบ ใบเดี่ยวรูปโล่ ออกสลับ แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลม ขนาดใหญ่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูภายใน ก้านใบมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เดี่ยว มีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมืนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4- 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเทาอมชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกมีจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนมากสีเหลือง ปลายอับเรณูมีระยางคล้ายกระบองเล็กๆ สีขาว เกสรตัวเมียจะฝังอยู่ในฐานรองดอกรูปกรวยสีเหลืองนวล ผล รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมาก ฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียว ที่เรียกว่า "ฝักบัว" มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก
 
ส่วนที่ใช้ :   
     ดีบัว ดอก เกษรตัวผู้ เมล็ด ไส้ของเมล็ด ยางจากก้านใบและก้านดอก เง่า ราก

สรรพคุณ :
     ดีบัว  -  มี Methylcorypalline ซึ่งเป็นตัวทำให้เส้นเลือดขยาย
     ดอก, เกษรตัวผู้ - ขับปัสสาวะ ฝากสมาน ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ เกษรปรุงเป็นยาหอม ชูกำลัง ทำให้ชื่นใจ ยาสงบประสาท ขับเสมหะ
     เหง้าและเมล็ด - รสหวาน เย็น มันเล็กน้อย บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง
     เมล็ดอ่อนและแก่ - เมล็ดใช้รับประทานเป็นอาหาร และใช้ทำเป็นแป้งได้ดี
     เหง้าบัวหลวง - ใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน
     ไส้ของของเมล็ด - แก้เส้นโลหิตตีบในหัวใจ
     ยางจากก้านใบและก้านดอก - แก้ท้องเดิน
     ราก - แก้เสมหะ

สารเคมี :
     ดอก  มีอัลคาลอยด์ ชื่อ nelumbine
     embryo  มี lotusine
     เมล็ด  มี alkaloids และ beta-sitosterol

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย กุ้ยช่าย (Allium tuberosum Rottl. ex Spreng)



ชื่อวิทยาศาสตร์  
     Allium tuberosum  Rottl. ex Spreng

ชื่อสามัญ :   
     Chinese Chives, Leek

วงศ์  
     Liliaceae (Alliaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
     ไม้ล้มลุก สูง 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตัน ยาว 40-45 ซม. โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ยาวประมาณ 5 มม. โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย ดอกบานกว้างประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม กว้างยาวประมาณ 4 มม. ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล แบน ขรุขระ
 
ส่วนที่ใช้ :  
     เมล็ด ต้น และใบสด

สรรพคุณ :
     เมล็ด 
- เป็นยาฆ่าสัตว์ต่างๆ ให้ตายได้
- รับประทานขับพยาธิเส้นด้ายหรือแซ่ม้า
- รับประทานกับสุราเป็นยาขับโลหิตประจำเดือนที่เป็นลิ่มเป็นก้อนได้ดี
 
     ต้นและใบสด
- เป็นยาเพิ่ม และขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด
- ใช้รับปะทานเป็นอาหาร
- ใช้ฆ่าเชื้อ (
Antiseptic)
- แก้โรคนิ่ว และหนองในได้ดี

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
      เมล็ด
- เผาไฟเอาควันรมเข้าในรูหู เป็นยาฆ่าสัตว์ต่างๆ ให้ตายได้
- บางจังหวัดใช้เมล็ดคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันยางชุบสำลีอุดฟันที่เป็นรูทิ้งไว้ 1-2 วัน เป็นยาฆ่าแมลงที่กินอยู่ในรูฟันให้ตายได้
      ต้นและใบสด
- ใช้จำนวนไม่จำกัดแกงเลียงรับประทานบ่อย ขับน้ำนมหลังคลอด
- ใช้ต้นและใบสด ตำให้ละเอียดผสมกับสุราใส่สารส้มเล็กน้อย กรองเอาน้ำรับประทาน 1 ถ้วยขา แก้โรคนิ่ว และหนองใน

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย กรดน้ำ (Scroparia dulcis Linn.)



ชื่อวิทยาศาสตร์ :  
Scroparia dulcis Linn.

ชื่อสามัญ :  
Sweet Broomweed, Macao Tea

ชื่อวงศ์ : 
SCROPHULARIACEAE

ชื่ออื่น : 
 ขัดมอนเล็ก, กัญชาป่า, กระต่ายจามใหญ่, มะไฟเดือนห้า, เทียนนา (จันทบุรี), ขัดมอนเทศ (ตรัง), หญ้าหัวแมงฮุน,หญ้าจ้าดตู้ด (เหนือ), ตานซาน (ปัตตานี), หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด), เอี่ยกำเช้า (จีนแต้จิ๋ว), หญ้าพ่ำสามวัน (ฉาบ), แหย่กานฉ่าน (จีนกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
      ต้น : เป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นไร้ขน มีความสูงประมาณ 25-80 ซม.
      ใบ : เป็นสีเขียวแก่ ใบเล็ก ขอบของใบจะหยักแบบฟันปลายาวประมาณ 1-2 นิ้ว ใบออกตรงข้ามกันเป็นเกลียวรอบกิ่ง
      กิ่ง : กิ่งเล็กเรียว กิ่งแผ่สาขามาก
      ดอก : ดอกสีขาว เล็ก กลีบเลี้ยงมีจำนวน 4 กลีบ เกสรตัวเมียมี 1 อัน ต้นหนึ่งจะมีดอกมาก

ส่วนที่ใช้ :  
      ใบ, ลำต้น, ราก

สรรพคุณทางสมุนไพร :
      ใบ   รสฝาด ขับระดูขาว แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ปวดฟัน
      ต้น   รสฝาด แก้ไอ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง แก้ลำไส้อักเสบ แก้ผื่นคัน แก้ขัดเบา ลดอาการบวมน้ำ แก้ เหงือกบวม แก้ปากเปื่อย
      ลูก   รสฝาดเมา ขับพยาธิไส้เดือน
      ราก   รสฝาด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้โรคเบาหวาน แก้ผื่นคัน สมานลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้จุกเสียด

ตำรับยา :
     1. เด็กที่เป็นไข้ให้ใช้ลำต้นที่สด ประมาณ 15 กรัม นำมาต้มใส่น้ำ ใส่น้ำตาลพอมีรสชาติ แล้วกรองเอาน้ำกิน
     2. เป็นผื่นคัน ให้ใช้ลำต้นที่สดตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาทาที่เป็น
     3. ขาบวมเนื่องจากเป็นโรคเหน็บชา ใช้ลำต้นที่สดขนาด 30 กรัม แล้วเอากินทุกเช้า-เย็นหลังอาหาร
     4. เป็นหัด ให้ใช้ลำต้นที่สด ต้มแล้วกรองเอาน้ำกินติดต่อกัน 3 วัน
     5. ลำไส้อักเสบ ปวดท้อง ปัสสาวะขัด ใช้ลำต้นขนาด 15-30 กรัม ต้มให้เดือดแล้วเอาน้ำกิน
     6. มีอาการเจ็บคอ ใช้ลำต้นที่สด ประมาณ 120 กรัมตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง รับประทาน
     7. ไอ ใช้ลำต้นที่สด ประมาณ 30-60 กรัม ต้มให้เดือดแล้วเอาน้ำรับประทาน

สารเคมีที่พบ :
   
     ต้นสด มี tritriacontone,sitosterol,d-mennitol,dulciol,dulcioline,scoparol,amellin,betulinic acid,iffaionic acid,benzoxazolinone,friedilin,glutinol,l-amyrin,dulcioic acid และ แอลคาลอยด์ ราก มี d-mannitol และ tannin, เปลือก มี hexacosanol,B-sitosterol และ d-mannitol

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย ใบบัวบก (Centella asiatica (Linn.) Urban.)



ชื่อวิทยาศาสตร์ :     
     Centella asiatica (Linn.) Urban.

ชื่อสามัญ :            
     Asiatic Pennywort

วงศ์ :                 
     UMBELLIFERAE

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ :
     ใบบัวบก เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่ขึ้นบนดิน แต่มีลักษณะใบคล้ายกับใบบัว 

ส่วนที่ใช้ :
     ใบ ต้น  

สรรพคุณ :
     การรับประทานใบบัวบก ไม่ว่าจะเป็นการทานสด เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือคั้นน้ำ จะช่วยให้คุณผ่อนคลายจากความกังวลและความเครียดได้ เนื่องจากในใบบัวบกประอบด้วยวิตามินบี1,บี2 และบี6 ในปริมาณสูง  นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายหลั่ง GABA  (gamma-aminobutyric acid)  ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในปริมาณที่มากขึ้นด้วย   จากการศึกษายังพบว่า การรับประทานใบบัวบกจะทำให้คุณสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ความจำดีขึ้น  และใบบัวบกยังช่วยกำจัดสารพิษซึ่งสะสมในสมองและระบบประสาท  ตลอดจนช่วยกำจัดสารพิษตกค้างในร่างกายประเภทโลหะหนักและยาต่างๆได้เป็นอย่าง ดี
      ใบบัวบกจะช่วยลดขนาดของเส้นเลือดขอด เนื่องจากใบบัวบกจะทำให้คอลลาเจนที่หุ้มรอบเส้นเลือดดำยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนผ่านเส้นเลือดดำเป็นไปได้สะดวกขึ้นใบบัวบกเพื่อรักษาความ ผิดปกติที่ตับและไต เช่น ตับอักเสบ  โรคตับที่เกิดจากการดื่มสุรา   ข้ออักเสบ  รูมาไทติส  รำมะนาด(เหงือกอักเสบ)  และจากการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในใบบัวบกยังมีสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย

ประโยชน์ :
       สาร ไตรเตอพีนอยด์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอลลาเจน(ซึ่งเปรียบเสมือนร่างแหที่ประกอบ กันเป็นโครงสร้างหลักของเซลล์ในส่วนต่างๆของร่างกาย  และยังเป็นผนังที่หุ้มล้อมรอบหลอดเลือดอีกด้วย)  ดังนั้นใบบัวบกจึงสามารถลดความดันเลือดได้เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เส้นเลือด  ใบบัวบกจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นเบาหวานเพราะ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนผ่านเส้นเลือดฝอย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนผ่านเส้นเลือดฝอย จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบวม  เส้นประสาทเสื่อม เหน็บชา แขนขาอ่อนแรง    นอกจากนี้ใบบัวบกทำให้ผิวหนังเต่งตึงและมีความยืดหยุ่นขึ้น    ตลอดจนช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นและช่วยในขบวนการหายของแผล เนื่อง จากใบบัวบกจะควบคุมไม่ให้เกิดการสร้างคอลลาเจนบริเวณแผลมากจนเกินไป   ดังนั้นจึงนิยมนำใบบัวบกไปใช้ในการรักษาแผลต่างๆอาทิเช่น แผลผ่าตัด การปลูกถ่ายผิวหนัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง หรือแม้แต่แผลจากโรคเรื้อน
ผู้ที่ควรทานใบบัวบกได้แก่
      1. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม อาทิ ผู้สูงอายุ สตรีวัยทอง
      2. ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่ต้องใช้สมองอย่างมาก และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความทรงจำ
      3. ผู้ที่มีความเครียดสูงจากการทำงานหนัก
      4. ผู้ที่มีความผิดปกติทางผิวหนัง และกล้ามเนื้อโดยมีอาการฟกช้ำ และผิวหนังอักเสบ
      5. ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เพราะช่วยเร่งการสมานแผลให้เร็วยิ่งขึ้น