วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย กวาวเครือ (Pueraria candollei Grah.)


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   
    Pueraria candollei Grah. 

ชื่อพ้อง :
     Pueraria mirifica

ชื่อวงศ์ :
     LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE

ชื่ออื่น ๆ :                
     กวาวเครือ, กวาว, ทองเครือ, ทองกวาว, กวาวหัว, ตามจอมทอง, จานเครือ, โพะตะกู, ตานเคือ, ตานเครือ
 
ส่วนที่ใช้ :             
     หัวใต้ดิน


การปลูก ทำได้ 3 วิธีดังนี้ :
     1. การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน นำต้นกล้าที่ได้ปลูกลงถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าวสับ 1 ส่วน ค่า pH ประมาณ 5.5 เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยทำด้วยไม้ไผ่ หรือปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นในกระบวนการเกษตร เช่น ไผ่ สัก ปอสา หรือไม้ผลอื่น ๆ พื้นที่ปลูกควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-900 เมตร
     2. การปักชำ นำเถาที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อเถาแตกรากและยอกแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหัว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
     3. การแบ่งหัวต่อต้น หัวของกวาวเครือไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ จำเป็นต้องใช้ส่วนของลำต้นมาต่อเชื่อตามวิธีการขยายพันธุ์แบบต่อราก เลี้ยงกิ่ง (nursed root grafting) สามารถนำหัวกวาวเครือขนาดเล็ก อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และต้นหรือเถาที่เคยทิ้งไปหลังการเก็บเกี่ยวมาขยายพันธุ์ได้ หลังการต่อต้นประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกได้ และมีข้อดีคือสามารถต่อต้นกับหัวข้ามสายพันธุ์ได้

 
การเก็บเกี่ยวและวิธีปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว :
      หัวใต้ดินจะขุดไปใช้ทางยาได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใบ หัวแข็งใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-25 ซม. และมีวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้
      1. ขุดหัวและทำความสะอาดผึ่งให้แห้ง ผ่าหัวภายใน 3-4 วัน ถ้าทิ้งไว้นานหัวจะแห้งและเน่า
      2. ปอกเปลือกออกและใช้มีดฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดด 3 วัน เมื่อแห้งสนิทใส่ภาชนะหรือถุงที่แห้ง ปิดปากถุงให้แน่น
กวาวเครือที่เก็บเกี่ยวจะมีขนาดหัวใหญ่กว่า 2 กิโลกรัม และยังไม่มีรายงานว่าหัวกวาวเครืออายุเท่าไร ขนาดใดและขุดฤดูกาลไหนที่หัวให้สารสำคัญมากที่สุด

 
สารสำคัญ :
      สารที่ออกฤทธิ์สำคัญที่พบในหัวกวาวเครือเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง (phytoestrogens) ได้แก่ miroestrol และ deoxymiroestrol ซึ่งมีฤทธิ์แรงแต่มีปริมาณน้อยและมี phytoestrogens ที่มีฤทธิ์อ่อนแต่มีปริมาณมากกว่า จำพวก isoflavones อีกหลายชนิด เช่น daidzein, genistein, daidzin, genistin, puerarin, mirificin, และ kwakhurin


การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา :
       การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า เมื่อนำกวาวเครือขาวมาใช้ในการคุมกำเนิดสัตว์ทดลอง เช่น นกกระทา หนูทดลอง สุนัข และแมว พบว่า สามารถคุมกำเนิดได้ทั้ง 2 เพศ โดยในสัตว์ทดลองเพศผู้พบว่า กวาวเครือขาวปริมาณสูงทำให้หนูขาวเพศผู้ไม่ผสมพันธุ์สำหรับสัตว์เพศเมียทำ ให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ มดลูกใหญ่ การตกไข่ถูกยับยั้ง

 
รายงานการวิจัยทางคลินิก :
      ในปี 2503 มีรายงานการศึกษาประสิทธิผลของ miroestrol ในการชักนำให้เกิด withdrawal bleeding ในหญิงที่มีสภาวะประจำเดือนไม่มาตามปกติ พบว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับ miroestrol นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งใช้ได้ผลคือเกิด withdrawal bleeding และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลเมื่อเทียบกับเอสโตรเจน แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงพอ ๆ กัน
      นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวในสตรีวัยใกล้หมด และหมดระดู เพื่อรักษาอาการ vasomotor (อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน) และอาการร่วมอื่น ๆ พบว่า กวาวเครือขาวลดอาการ vasomotor ได้ค่อนข้างดี แต่ทำให้เกิดข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น เต้านมตึงคัด เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ขนาดของกวาวเครือขาวที่เหมาะสมยังต้องการประเมินผลทางคลินิกเป็นสำคัญในผู้ ป่วยจำนวนมากขึ้นต่อไป

 
การศึกษาทางพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง :
     ผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการกรอกผงกวาวในขนาดต่าง ๆ ติดต่อกันในหนูขาว พบว่า การให้ขนาดน้อย ๆ ไม่พบความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ถ้าให้ขนาดสูงจะพบความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ค่าชีวเคมีของเลือด และความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์

 
ข้อห้ามใช้ :
     ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร จะห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานกวาวเครือขาว ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน ข้อห้ามนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนโบราณเนื่องจากกวาวเครือขาว มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่ค่อนข้างแรง หากคนหนุ่มสาวรับประทานจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศได้

 
ข้อควรระวัง :
     ห้ามรับประทานเกินกว่าขนาดที่แนะนำให้ใช้

 
อาการข้างเคียง :
     อาจทำให้เกิดการเจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้

 
ข้อบ่งใช้ :
     ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 กวาวเครือขาวจัดเป็นตัวยาตัวหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัยก่อน
ขนาดที่ใช้
     จากผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือขาว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขนาดใช้ของผงกวาวเครือขาวในคนไม่ควรเกิน 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือประมาณวันละ 50-100 มิลลิกรัม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน

สมุนไพรไทย ว่านมหากาฬ (Gynura pseudochina)


ชื่อวิทยาศาสตร์  
     Gynura pseudochina  (L.) DC.

วงศ์ : 
     Asteraceae  (Compositae)

ชื่ออื่น :  
     ดาวเรือง (ภาคกลาง) ผักกาดกบ (เพชรบูรณ์) หนาดแห้ง (โคราช)ผักกาดนกเขา (สุราษฏร์ธานีใต้) คำโคก (ขอนแก่น เลย อีสาน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
     ไม้ล้มลุก มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ ทอดเลื้อยยาว ชูยอดตั้งขึ้น ใบ เดี่ยว ขอบใบหยัก หลังใบสีม่วงเข้ม ท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอก ช่อ ออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสีเหลืองทอง ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก

ส่วนที่ใช้ : 
     หัว ใบสด

สรรพคุณ :
     หัว 
-
  รับประทานแก้พิษอักเสบ ดับพิษกาฬ พิษร้อน
-
  แก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้เริม 
     ใบสด
ขับระดู
ตำพอกฝี หรือหัวละมะลอก งูสวัด เริม ทำให้เย็น ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน 

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
     ใช้ใบสด 5-6 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะทีสะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย
     ใช้ใบสด 5-6 ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้
 
ข้อสังเกต :
     ในการใช้ว่านมหากาฬรักษาเริม และงูสวัด เมื่อหายแล้ว มีการกลับเป็นใหม่น้อยกว่าเมื่อใช้เหล้าขาว

การขยายพันธุ์ :
     โดยการแยกหน่อ สภาพดินฟ้าอากาศ ชอบดินร่วนซุย มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื่น ปลูกได้ทุกฤดู การปลูก เตรียมดินโดยขุดดินตากแดดไว้ให้ร่วนซุย ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดกลบหน้าพอสมควร หลังจากตากดินแล้วจึงขุดกลับคืน ย่อยดินเพื่อให้ร่วนซุยอีกครั้ง ใช้หน่อพร้อมติดดินและรากด้วย ฝังไว้ในหลุมที่ขุดไว้หลุมละ 1 หน่อ กลบดินเท่ากับความลึกของหน่อที่ขุดจากที่เดิม 
      การบำรุงรักษา ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และหมั่นดูแลความชุ่มชื้น การใส่ปุ๋ยอาจใส่เดือนละครั้ง ปุ๋ยที่ให้ควรเป็นปุ๋ยบำรุงใบและบำรุงส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย ขิง (Zingiber officinale Roscoe)



ชื่อวิทยาศาสตร์  
     Zingiber officinale  Roscoe

ชื่อสามัญ :   
     Ginger

วงศ์  
     Zingiberaceae

ชื่ออื่น :  
     ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  
     ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน  ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองแกมเขียว ผล เป็นผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. เป็น 3 พู เมล็ดหลายเมล็ด
 
ส่วนที่ใช้ : 
     เหง้าแก่สด  ต้น  ใบ  ดอก  ผล 

สรรพคุณ :
     เหง้าแก่สด 
- ยาแก้อาเจียน
- ยาขมเจริญอาหาร
- ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
- แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ
- สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี
- มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร
- แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก
- ลดความดันโลหิต
ต้น - ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้คอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา แก้บิด แก้ลมป่วง แก้ท้องร่วงอย่างแรง แก้อาเจียน
ใบ - แก้โรคกำเดา ขับผายลม แก้นิ่วแก้เบาขัด แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา  ขับลมในลำไส้
ดอก - ทำให้ชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ฆ่าพยาธิ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ  แก้นิ่ว แก้เบาขัด แก้บิด
ผล - แก้ไข้

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
     ยาแก้อาเจียน
ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม
นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม
     ยาขมเจริญอาหาร
ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม
ผงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ
แก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดและปวดท้อง
- น้ำกระสายขิง น้ำขิง 30 กรัม มาชงด้วยน้ำเดือด 500 ซีซี ชงแช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง กรองรับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
- ใช้ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย
- ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ
- ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม
     แก้ไอและขับเสมหะ
ใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือ ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
     ลดความดันโลหิต
ใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน

สารเคมี :
     เหง้า พบ  Gingerol Zingiberene, Zingiberone Zingiberonol, Shogoal, Fenchone, Camphene Cineol Citronellol
     ใน น้ำมันหอมระเหย พบสาร Bisabolene, Zingiberone Zingiberol, Zingiberene, Limonene, Citronellol Gingerol, Camphene, Borneol, Cineol
      ทั้งต้น พบ 5 - (1) - 6 - Gingerol
        ใบ  พบ Shikimic acid

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร :
      ขิงที่นำมาประกอบอาหารมีหลายรูปแบบคือ ขิงสด ขิงดอง ขิงแห้ง ขิงผง รวมทั้งน้ำขิงที่เป็นเครื่องดื่ม ขิงเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหาร เพิ่มรสชาติ และดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น ใช้โรยหน้าปลานึ่ง โรยหน้าโจ๊กหรือผสมในน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ต้มส้มปลา แกงฮังเล ยำกุ้งแห้ง ขิงยำ เป็นเครื่องเคียงของเมี่ยงคำ หรือทำเป็นขนมหวาน เช่น บัวลอยไข่หวาน มันเทศต้ม เป็นต้น นอกจากนี้ขิงดองยังเป็นอาจาดในอาหารอีกหลายชนิด เช่น ข้าวหน้าเป็ด หรืออาหารญี่ปุ่น รวมทั้งยังเป็นส่วนผสมในการแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น คุกกี้ พาย เค้ก พุดดิ้ง ผงกะหรี่ เป็นต้น ในประเทศแถบตะวันตกนำขิงไปทำเป็นเบียร์ คือ เบียร์ขิง (Ginger beer)

Tips :
      1. รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยนำขิงแก่สด ประมาณ 2-3 เหง้า มาทุบพอแตกต้มกับน้ำ
      2. รักษาไข้หวัด โดยนำขิงแก่สด 7 กรัม และขิงแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มเพื่อรักษาอาการ หรือใช้ขิงแก่ 2-3 เหง้า นำมาทุบให้ละเอียดต้มกับน้ำอาบเพื่อขับเหงื่อลดอาการไข้เนื่องจากหวัด
      3. รักษาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำขิงสดมาคั้นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้งประมาณ 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้ขิงสดฝนกับมะนาวเติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
      4. รักษาอาการปวดประจำเดือน ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน โดยนำขิงแก่แห้งประมาณ 30 กรัม ต้มกับน้ำดื่มบ่อยๆ
      5. แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง โดยใช้ขิงแห้งบดชงกับน้ำอุ่น ดื่มวันละ 1 ครั้ง
      6. รักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวก โดยตำขิงสดให้ละเอียด นำกากมาพอกที่แผลเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ เป็นหนอง
      7. รักษาอาการปวดฟัน โดยนำขิงแก่ทุบให้ละเอียด คั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง พอกบริเวณฟันที่ปวด

ข้อสังเกต / ข้อควรระวัง :
      1. ขิงแก่มีสรรพคุณในทางยาและมีรสเผ็ดร้อนมากกว่าขิงอ่อน
      2. ขิงแก่มีเส้นใยมากกว่าขิงอ่อน
      3. ในเหง้าขิงมีเอนไซม์บางชนิดที่สามารถย่อยเนื้อสัตว์ให้เปื่อยได้
      4. สารจำพวกฟีนอลิค (Phenolic compound) ในขิงสามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย ทองกวาว (Flame of the forest.)



ชื่ออื่น ๆ :
     จอมทอง (ภาคเหนือ), ทองกวาวต้น (ภาคกลาง), กวาวก้าว (พายัพ) ทองพรมชาติ, ทองธรรมชาติ, จาน(ภาคอีสาน), ทองต้น (ราชบุรี), จ้า (เขมร)

ชื่อสามัญ :
     Flame of the forest.

ชื่อวิทยาศาสตร์ :
     Butea monosperma O. Ktze.

วงศ์ :
     LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไป :
     ต้น : เป็นพรรณไม้ยืนต้น ที่มีทั้งขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 6-12 เมตร
ลักษณะของเปลือกลำต้นเป็นปมเป็นปุ่ม ไม่เรียบเกลี้ยง ผิวมีสีน้ำตาลหม่น ๆ
     ใบ : ใบเป็นสีเขียว พื้นผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ใบออกเป็นก้านยาว ก้านหนึ่งมี ใบย่อยอยู่ 3 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม ใบกว้างราว 2.5-9 นิ้ว ยาวราว3.4-10.5 นิ้วลักษณะคล้ายกับใบทองหลางใบมน
     ดอก : ดอกออกเป็นช่อ รูปลักษณะของดอกคล้ายกับดอกทองหลาง ดอกเป็นสีแดง ขนาดใหญ่
     ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแข็ง เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนภายในฝักมีเมล็ด ขนาดเล็ก เป็นสีน้ำตาลแก่

การขยายพันธุ์ : 
     เป็นพรรณไม้ที่เกิดขึ้นเองตามพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือตามป่าราบ

ส่วนที่ใช้ :
     ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ราก

สรรพคุณ :
     ใบ ใช้ใบสดนำมาต้มเอาน้ำกิน เป็นยาแก้ปวด ขับพยาธิ ถอนพิษ แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวงทวาร นำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้พอกสิว และฝีเป็นต้น
     ดอก ใช้ดอกสดมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยา แก้ถอนพิษไข้ ช่วยขับปัสสาวะ หรือนำเอาน้ำมาผสมกับยาหยอดตาแก้โรคตามัว หรือเจ็บตา เป็นต้น ฝัก นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาขับถ่ายพยาธิ
     เมล็ด นำเมล็ดมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ผสมกับน้ำมะนาว ใช้บริเวณที่เป็นผื่นคัน หรือเป็นแผลอักเสบเนื่องจากเป็นโรคผิวหนัง หรือนำเมล็ดมาต้มใช้น้ำกินเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน เป็นต้น
     ราก นำรากสดมาต้ม ใช้น้ำรับประทาน เป็นยาแก้โรคประสาททุกชนิด และใช้เป็นยาบำรุงธาตุอีกด้วย

ถิ่นที่อยู่ :
     ทองกวาว เป็นพรรณไม้ที่มีมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ของประเทศไทย

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรไทย แห้วหมู (Cyperus rotundus Linn.)



ชื่อวิทยาศาสตร์ :  
     Cyperus rotundus Linn.

วงศ์ :  
     Cyperaceae

ชื่อท้องถิ่น :
     หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน)แห้วหมูเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีหัวอยู่ใต้ดิน มีก้านดอกยาว
และดอกเป็นสีน้ำตาล

การปลูก :
     แห้วหมูเป็นหญ้าที่พบเห็นโดยทั่วไป ปลูกโดยการใช้หัวหรือการไหลก็ได้เป็นวัชพืชที่ไม่ส่งเสริมให้มีการปลูก 

ส่วนที่ใช้เป็นยา :
     หัว  ช่วงเวลาที่เก็บยา เก็บหัวแก่

สรรพคุณ :
     รสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้ขับลม 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :
     หัวหญ้าแห้วหมูเป็นน้ำมันหอมระเหย (Essential oil)
มีสารประกอบทางเคมีหลายชนิด จากรายงานพบว่ามีฤทธิ์ คลายอาการ เกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และสารสกัดจากแอลกอฮอล์จากรากแห้วหมู
ทำให้มีการขับปัสสาวะมากขึ้น จากการที่มีน้ำมันหอมระเหยและลดการเกร็ง
ตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียดได้ดี
กองวิจัยการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน

วิธีใช้ :
     หัวหญ้าแห้วหมู ใช้เป็นยาแก้ท้องอืด
ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยใช้หัวหญ้าแห้วหมู 1 กำมือ
(60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือใช้หัวสดครั้งละ
5 หัว โขลกให้แหลกผสมกับน้ำผึ้งรับประทานก็ได้ ความจริงไม่ต้องปลูกหญ้าแห้วหมูเลย
สามารถพบเห็นเสมอตามข้างถนนหนทางและ ตามพื้นที่ราบทั่วไป มีหญ้าแห้วหมูขึ้นอยู่เสมอ
หาได้ง่ายมาก