ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Pueraria candollei Grah.
ชื่อพ้อง :
Pueraria mirifica
ชื่อวงศ์ :
LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น ๆ :
กวาวเครือ, กวาว, ทองเครือ, ทองกวาว, กวาวหัว, ตามจอมทอง, จานเครือ, โพะตะกู, ตานเคือ, ตานเครือ
ส่วนที่ใช้ :
การปลูก ทำได้ 3 วิธีดังนี้ :
1. การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน นำต้นกล้าที่ได้ปลูกลงถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าวสับ 1 ส่วน ค่า pH ประมาณ 5.5 เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยทำด้วยไม้ไผ่ หรือปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นในกระบวนการเกษตร เช่น ไผ่ สัก ปอสา หรือไม้ผลอื่น ๆ พื้นที่ปลูกควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-900 เมตร
2. การปักชำ นำเถาที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อเถาแตกรากและยอกแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหัว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
3. การแบ่งหัวต่อต้น หัวของกวาวเครือไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ จำเป็นต้องใช้ส่วนของลำต้นมาต่อเชื่อตามวิธีการขยายพันธุ์แบบต่อราก เลี้ยงกิ่ง (nursed root grafting) สามารถนำหัวกวาวเครือขนาดเล็ก อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และต้นหรือเถาที่เคยทิ้งไปหลังการเก็บเกี่ยวมาขยายพันธุ์ได้ หลังการต่อต้นประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกได้ และมีข้อดีคือสามารถต่อต้นกับหัวข้ามสายพันธุ์ได้
การเก็บเกี่ยวและวิธีปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว :
หัวใต้ดินจะขุดไปใช้ทางยาได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใบ หัวแข็งใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-25 ซม. และมีวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้
1. ขุดหัวและทำความสะอาดผึ่งให้แห้ง ผ่าหัวภายใน 3-4 วัน ถ้าทิ้งไว้นานหัวจะแห้งและเน่า
2. ปอกเปลือกออกและใช้มีดฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดด 3 วัน เมื่อแห้งสนิทใส่ภาชนะหรือถุงที่แห้ง ปิดปากถุงให้แน่น
กวาวเครือที่เก็บเกี่ยวจะมีขนาดหัวใหญ่กว่า 2 กิโลกรัม และยังไม่มีรายงานว่าหัวกวาวเครืออายุเท่าไร ขนาดใดและขุดฤดูกาลไหนที่หัวให้สารสำคัญมากที่สุด
สารสำคัญ :
สารที่ออกฤทธิ์สำคัญที่พบในหัวกวาวเครือเป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง (phytoestrogens) ได้แก่ miroestrol และ deoxymiroestrol ซึ่งมีฤทธิ์แรงแต่มีปริมาณน้อยและมี phytoestrogens ที่มีฤทธิ์อ่อนแต่มีปริมาณมากกว่า จำพวก isoflavones อีกหลายชนิด เช่น daidzein, genistein, daidzin, genistin, puerarin, mirificin, และ kwakhurin
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา :
การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า เมื่อนำกวาวเครือขาวมาใช้ในการคุมกำเนิดสัตว์ทดลอง เช่น นกกระทา หนูทดลอง สุนัข และแมว พบว่า สามารถคุมกำเนิดได้ทั้ง 2 เพศ โดยในสัตว์ทดลองเพศผู้พบว่า กวาวเครือขาวปริมาณสูงทำให้หนูขาวเพศผู้ไม่ผสมพันธุ์สำหรับสัตว์เพศเมียทำ ให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่ มดลูกใหญ่ การตกไข่ถูกยับยั้ง
รายงานการวิจัยทางคลินิก :
ในปี 2503 มีรายงานการศึกษาประสิทธิผลของ miroestrol ในการชักนำให้เกิด withdrawal bleeding ในหญิงที่มีสภาวะประจำเดือนไม่มาตามปกติ พบว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับ miroestrol นั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งใช้ได้ผลคือเกิด withdrawal bleeding และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลเมื่อเทียบกับเอสโตรเจน แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงพอ ๆ กัน
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวในสตรีวัยใกล้หมด และหมดระดู เพื่อรักษาอาการ vasomotor (อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน) และอาการร่วมอื่น ๆ พบว่า กวาวเครือขาวลดอาการ vasomotor ได้ค่อนข้างดี แต่ทำให้เกิดข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น เต้านมตึงคัด เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ขนาดของกวาวเครือขาวที่เหมาะสมยังต้องการประเมินผลทางคลินิกเป็นสำคัญในผู้ ป่วยจำนวนมากขึ้นต่อไป
การศึกษาทางพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง :
ผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการกรอกผงกวาวในขนาดต่าง ๆ ติดต่อกันในหนูขาว พบว่า การให้ขนาดน้อย ๆ ไม่พบความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ถ้าให้ขนาดสูงจะพบความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ค่าชีวเคมีของเลือด และความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
ข้อห้ามใช้ :
ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร จะห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานกวาวเครือขาว ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน ข้อห้ามนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของคนโบราณเนื่องจากกวาวเครือขาว มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่ค่อนข้างแรง หากคนหนุ่มสาวรับประทานจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศได้
ข้อควรระวัง :
ห้ามรับประทานเกินกว่าขนาดที่แนะนำให้ใช้
อาการข้างเคียง :
อาจทำให้เกิดการเจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้
ข้อบ่งใช้ :
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 กวาวเครือขาวจัดเป็นตัวยาตัวหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนนั้น ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิผลและความปลอดภัยก่อน
ขนาดที่ใช้
จากผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือขาว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขนาดใช้ของผงกวาวเครือขาวในคนไม่ควรเกิน 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือประมาณวันละ 50-100 มิลลิกรัม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
สุดยอด เป็นข้อมูลที่ดีมากเลยครับ กวาวเครือ
ตอบลบ